Thursday, November 22, 2007

มะขาม


ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn.

ชื่อวงศ์ Leguminosae

ชื่อท้องถิ่น
ภาคกลาง เรียก มะขามไทย
ภาคใต้ เรียก ขาม
นครราชสีมา เรียก ตะลูบ
กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี เรียก ม่วงโคล้ง
เขมร-สุรินทร์ เรียก อำเปียล

ลักษณะทั่วไป

มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายไบและโคนใบมน ดอก ออกเป็น ช่อเล็กๆ ตามปลายกิ่ง หนึ่งช่อมี 10-15 ดอก ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และหวาน

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
เมล็ด
1. สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย
สารที่พบที่เมล็ด คือ tannin (1-6) มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสีย (7)
2. ฤทธิ์ขับพยาธิ
เมื่อทดสอบกับตัวอ่อนของพยาธิ Meloidogyne inconita พบว่าจะได้ผลภายหลัง 48 ชั่วโมง (8)
3. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
การทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อผสมสารสกัด polysaccharide ในขนาดต่างๆ คือ 4, 8 และ 12% ในอาหารให้หนูตัวผู้และตัวเมียที่ควบคุมการให้อาหาร นาน 2 ปี พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกาย น้ำหนัก การขับถ่าย สารเคมีในเลือดและปัสสาวะ (9) ทดสอบความเป็นพิษของ polysaccharide ในหนูขาวและหนูถีบจักร ไม่พบพิษ (10, 11) และไม่พบความผิดปกติใดๆในหนูขาวที่กินอาหารผสมด้วย pigments จากเมล็ดที่คั่วแล้ว ขนาด 1.25, 2.5 และ 5% ของอาหาร นาน 90 วัน (คิดเป็นปริมาณที่กินเฉลี่ย 803.2, 1669.2 และ 3278.1 มก./กก./วัน ในเพศผู้ และ 941.0, 1854.2 และ 3885.1 มก./กก./วัน ในเพศเมีย ตามลำดับ) (12)

ผล
1. สารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย
เนื้อมะขามมีกรด tataric (13-23) ซึ่งช่วยระบายท้อง (7)
2. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง ได้แก่ Bacillus subtilis (24, 25), Escherichia coli และ Salmonella typhi (24) แต่สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม (24) และสารสกัดด้วยน้ำ (26) ออกฤทธิ์อ่อนในการยับยั้งเชื้อ B. subtilis, E. coli , S. typhi (24) และ Proteus mirabilis (26) สารสกัดน้ำต้มความเข้มข้น 5 มก./แผ่น (27) และสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ความเข้มข้น 200 มก./มล. (25) ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคอุจจาระร่วง 8 ชนิด (27) และ E. coli , S. typhimurium และ Proteus vulgaris (25)
3. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
3.1 การทดสอบความเป็นพิษ
ไก่ที่กินอาหารผสมด้วยเนื้อมะขามสุก 2% และ 10% นาน 4 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักลดลง และ feed conversion ratio ลดลง มีการเปลี่ยนแปลงของไขมันในตับ เซลล์ตับตาย และไตส่วน cortex ตาย ไก่ที่กินอาหารผสมขนาด 10% จะมีพยาธิสภาพรุนแรงกว่าไก่ที่กินอาหารผสมขนาด 2% ผลการตรวจทางซีรัมพบว่า กรดยูริก total cholesterol, alkaline phosphatase (ALP), glutamic oxaloacetic transaminase (GOT) เพิ่มขึ้น ระดับโปรตีนลดลง ส่วน sorbitol dehydrogenase และบิลิรูบินไม่เปลี่ยนแปลง ระดับ GOT, ALP กรดยูริก total cholesterol และโปรตีน จะไม่กลับสู่ระดับปกติในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากไม่ได้กินอาหารผสมแล้ว ไม่พบความผิดปกติทางโลหิตวิทยา (28)
3.2 พิษต่อตัวอ่อน
เมื่อฉีดสารสกัดจากผลด้วยน้ำ (1:1) เข้าในหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (29) หรือให้หนูขาวเพศเมียกินสารสกัดด้วยเอทานอล 100% ขนาด 200 มก./กก. (30)ไม่พบอันตรายต่อตัวอ่อน (29, 30)
3.3 ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์
สารสกัดด้วยน้ำต้มมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบใน Salmonella typhimurium ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารก่อกลายพันธุ์ 4-nitroquinoline-l-oxide (31)
3.4 ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
สารสกัดจากผลมะขามความเข้มข้น 0.1 มก./จานเพาะเชื้อ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ S. typhimurium TA1535 แต่ไม่มีผลต่อ S. typhimurium TA1537, TA1538 และ TA98 (32)


การปลูก
มะขามขึ้นได้กับดินทุกชนิด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนในดินเหนียวทนแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในฤดูฝน ใช้กิ่งพันธุ์ปลูกโดยการขุดหลุมและใส่ปุ๋ยที่ก้นหลุมก่อน ดูแลรักษาเหมือนกับพืชโดยทั่วไป นิยมขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง ติดตาหรือต่อกิ่ง เพราะได้ผลเร็วและไม่ทำให้กลายพันธุ์


ประโยชน์ทางยา

แก่น รสฝาดเมา สรรพคุณกล่อมเสมหะและโลหิตเนื้อมะขาม รสเปรี้ยว ชุ่มเย็น ใช้แก้ร้อน ขับเสมหะ แก้อาการเบื่ออาหาร ในฤดูร้อนอาการคลื่นไส้ อาเจียนในหญิงมีครรภ์ และแก้เด็กเป็นตานขโมยแก้ท้องผูก
ใบแก่ มีรสเปรี้ยวฝาด ใช้นำมาปรุงเป็นยาแก้ไอ โรคบิด ขับเสมหะในลำไส้ฟอกโลหิตขับเลือดลมในลำไส้ แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก
เมล็ดแก่ รสฝาดมัน ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือนในท้องเด็ก แก้ท้องร่วงและอาเจียนเปลือกต้น รสฝาด แก้ท้องอืด ท้องแน่น อาหารไม่ย่อย แก้เจ็บปากเจ็บคอ สมานแผลเรื้อรังขนาดวิธีใช้
1. แก้อาการเบื่ออาหารในฤดูร้อน อาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงมีครรภ์ แก้เด็กเป็นตานขโมย ใช้เนื้อมะขาม 15-30 กรัม อุ่นให้ร้อนรับประทาน หรือผสมน้ำตาลทราย เคี่ยวให้ข้น รับประทานได้ทันที
2. รักษาฝีให้ใช้เนื้อมะขามผสมกับปูนแดงทาที่เป็น
3. เป็นยาขับเลือด ขับลม แก้สันนิบาต ให้ใช้เนื้อมะขามผสมกับเกลือและข่า
4. น้ำมะขามเปียกคั้นเป็นน้ำข้น ๆ ผสมเกลือเล็กน้อย รับประทานชามใหญ่ ใช้สำหรับล้างเลือกที่ตกค้างภายในของหญิงหลังคลอดใหม่ ๆ หลังจากที่รกออกมาแล้ว
5. แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก หรือทำให้สดชื่นหลังจากฟื้นไข้ หรือหลังคลอด ใช้ใบมะขามแก่ ต้มรวมกับหัวหอมแดง 2-3 หัว โกรกศีรษะเด็กในเวลาเช้ามืด หรือต้มน้ำอาบหลังคลอดและหลังฟื้นไข้ทำให้สดชื่น
6. แก้ท้องร่วงและอาเจียนใช้เม็ดแก่คั่วให้เกรียมแล้วกะเทาะเปลือกออกใช้ประมาณ 20-30 เมล็ด นำมาแช่เกลือจนอ่อนนุ่ม
7. แก้เจ็บปากเจ็บคอ ใช้เปลือกต้น ผสมเกลือ เผาในหม้อดินจนเป็นเถ้าขาว รับประทานครั้งละ 60-120 มิลลิกรัม และยังใช้เถ้านี้ผสมน้ำอมบ้วนปาก
8. ถ่ายพยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวกลม นำเมล็ดมะขามมาคั่ว แล้วกะเทาะเปลือกนอกออกใช้เล็ดในที่มีสีขาว 20-25 เมล็ด ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย รับประทาน 1 ครั้ง หรือคั่วเนื้อในให้เหลืองกระเทาะเปลือกแช่น้ำให้นิ่มแล้วเคี้ยวเช่นถั่ว
9. ยาล้างแผลเรื้อรัง สมานแผล ใช้เปลือกต้น 1 กำมือ ต้มกับน้ำตาล 3 แก้วให้เดือดนาน 20-30 นาที เอาน้ำมาล้างแผล10. แก้ท้องผูก มะขามแกะเอาแต่เนื้อ ปั้นเป็นก้อนโตประมาณนิ้วหัวแม่มือ 2 ก้อน (ธาตุหนังใช้ 3 ก้อน) คลุกกับเกลือป่น แล้วแบ่งเป็นลูกเล็ก ๆ พอกลืนสะดวก กลืนกับน้ำแล้วดื่มน้ำอุ่น ๆ ตามประมาณ 1 แก้ว

คุณค่าทางโภชนาการ

ยอดอ่อนและฝักอ่อนมีวิตามิน เอ มาก มะขามเปียกรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนของร่างกายได้ดี เนื้อในฝัก มะขามที่แก่จัด เรียกว่า มะขามเปียก ประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายตัว เช่น กรดทาร์ททาร์ริค กรดซิตริค เป็นต้น ทำให้ออกฤทธิ์ ระบายและลดความร้อนของร่างกายลงได้ แพทย์ไทยเชื่อว่า รสเปรี้ยวนี้จะกัดเสมหะให้ละลายได้ด้วย




เคล็ดปฏิบัติ

การปลูกมะขามนั้น คนโบราณเชื่อกันว่า ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของตัวบ้าน แต่ถ้าหน้าบ้านหันเข้าหาทิศอื่น ก็สามารถปลูกมะขามไว้ด้านหน้าบ้านก็ได้ ถือว่าเป็นมงคลเช่นกัน เพียงแต่ตามตำราความเชื่อนั้น นิยมแนะให้ปลูกทางทิศตะวันตก แม้ว่าทิศนั้นจะอยู่ด้านข้าง หรือด้านหลังของบ้านก็ตามที ควรให้ผู้ที่มีอาวุโสที่สุดในบ้าน เป็นผู้ลงมือปลูก และวันอันเป็นมงคล สำหรับการปลูกมะขาม คือ วันเสาร์และวันอาทิตย์